สยามรัฐ

  1.  ปูทาง ยิ่งลักษณ์ !? 

     เมื่อ บุญทรง เตริยาภิรมย์ ผู้ต้องขังในคดีทุจริตจำนำข้าวจีทูจี  และอดีตรมว.พาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ได้รับการพักโทษ ออกจากเรือนจำ แล้วใส่กำไลอีเอ็ม ไปอยู่ที่จ.เชียงใหม่  เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา  กำลังถูกจับตาว่านี่คือ สัญญาณดี ต่อใครก็ตามที่ยังติดบ่วง คดีทุจริตจำนำข้าว ด้วยหรือไม่ ? 
     

    กรณีบุญทรง ได้รับการอภัยโทษและครบกำหนดเข้าเงื่อนไขการพักโทษ โดยแจ้งกับทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติว่าจะขอโอนย้ายไปคุมประพฤติที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิด สำหรับบุญทรง ปัจจุบันอายุ 64 เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลมีคำพิพากษาเมื่อ ปี 2560 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เม.ย.2571


     และแม้บุญทรง อายุยังไม่ถึง 70ปี แต่ทางกรมราชทัณฑ์ โดย สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์  อธิบดีกรมราชทัณฑ์  ชี้แจง  เนื่องจากคณะกรรมการวินิจฉัยการพักการลงโทษ ได้พิจารณาให้บุญทรงได้รับการพักโทษปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์ตามปกติคือ ต้องโทษมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกตามคำพิพากษา
     แน่นอนว่าการปล่อยตัวบุญทรง อดีตรัฐมนตรีครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมา ว่า นี่คือสัญญาณในทางบวกสำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ยังหนีคดีเดียวกันอยู่ที่ต่างประเทศ ไปด้วยหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า ประเด็นเรื่องยิ่งลักษณ์จะได้กลับประเทศไทยนั้น ถูกถ่ายทอดมาจากปากของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯซึ่งเป็นพี่ชายมาแล้วหลายครั้ง 


     ซึ่งหลายคนทั้งในและนอกพรรคเพื่อไทย ต่างรับรู้กันดีว่า การที่พรรคเพื่อไทย ได้เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล การที่ทักษิณ ได้กลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ที่ผ่านมานั้น ภารกิจในแผนยังไม่จบ จนกว่า ยิ่งลักษณ์ จะได้รับโอกาสเช่นเดียวกับทักษิณ 


     ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ  ตอบคำถามสื่อเรื่องนี้ ด้วยการยันยืนว่า เรื่องพักโทษบุญทรง นั้นไม่เกี่ยวกับการที่ อาปู จะได้กลับประเทศไทย 
      ท่านบุญทรง เป็นผู้ต้องขัง ท่านยิ่งลักษณ์ไม่ได้เป็น ไม่น่าจะเกี่ยวกัน และจากการฟัง พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เขาก็เข้าเกณฑ์ใช่หรือไม่ ก็ปล่อย และก็มีคนเข้าเกณฑ์อีกมากมาย อันนั้นเป็นเกณฑ์ของทางราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรมทราบดี ไม่เกี่ยวกับอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว เป็นคนละสถานการณ์กัน (3 ธ.ค.67) 


     การที่ยิ่งลักษณ์ จะได้กลับประเทศไทย หรือไม่นั้น ยังมีวาระที่ซ้อนเอาไว้อีกด้านหนึ่ง เพราะหากเป็นเรื่องจริง จะยิ่งตอกย้ำ ว่านอกจาก ดีลลับ สำหรับพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ยังไม่หมดอายุแล้ว โอกาสที่ อายุรัฐบาล จะได้อยู่ต่อ ดูจะเป็นไปได้มากขึ้น !
     

  2. ความสำคัญของ “เศรษฐกิจสีเขียว” และบทบาทของเทคโนโลยีใหม่

    ร้อยเอก ดร.จารุพล เรืองสุวรรณ

    อาจารย์ประจำคณะการทูตและการต่างประเทศ

    มหาวิทยาลัยรังสิต

    ในยุคที่โลกเผชิญกับวิกฤติสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ได้กลายเป็นแนวทางที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างมากครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งตัวเศรษฐกิจสีเขียวไม่เพียงแค่ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ผ่านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) อีกด้วย สัปดาห์นี้ เราจะไปมองเศรษฐกิจสีเขียวและบทบาทของเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในยุคปัจจุบันกันครับ

    เศรษฐกิจสีเขียวคืออะไร และเหตุใดจึงสำคัญ?        

    ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า “เศรษฐกิจสีเขียวเป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม” ครับ ในอดีตเราอาจจะคิดว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นย่อมนำมาซึ่งการเสียสละด้านผลกระทบ อาทิ การก่อให้เกิด pollution หรือการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ ใช่ไหมครับ แต่เศรษฐกิจสีเขียว คือการคิดแนวใหม่ครับ ว่าจริงๆแล้วมันไม่จำเป็นต้องเสียสิ่งใดเพื่อให้ได้สิ่งใดมา แต่เราสามารถสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้

    แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวจึงมีเป้าหมายหลายประการ เช่น การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ลดการปล่อยมลพิษ และส่งเสริมพลังงานสะอาด รวมถึงการสร้างโอกาสในภาคส่วนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน เกษตรกรรมยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ด้วยเช่นกัน

    ดังนั้น เศรษฐกิจสีเขียวจึงมีความสำคัญในฐานะกรอบความคิดและการปฏิบัติในยุคใหม่ ที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ รวมไปจนถึง เป็นโอกาสใหม่ๆทางเศรษฐกิจ นั่นเอง

    บทบาทของเทคโนโลยีใหม่ในเศรษฐกิจสีเขียว?

    เทคโนโลยีใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ได้แก่

    พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น แบตเตอรี่เก็บพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงและแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ที่ลดต้นทุนการผลิต จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีต้นทุนที่ต่ำลง และอาจนำไปสู่ความแพร่หลายมากขึ้นอีกระดับในอนาคต

    เทคโนโลยีการจัดการทรัพยากร (Resource Management) ในปัจจุบันต้องบอกว่า เราเชื่อได้ไม่ยากว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) จะสามารถช่วยมนุษย์ในการจัดการทรัพยากรน้ำ พลังงาน หรือขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ในสิงคโปร์ ที่ใช้ระบบจัดการน้ำอัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและควบคุมการใช้น้ำได้แบบเรียลไทม์ เป็นต้น

    การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) เมืองอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในคอนเซปต์ที่หลายประเทศทั่วโลกผลักดันมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันจะเป็นตัวช่วยในการสร้างเมืองอัจฉริยะได้อย่างดียิ่ง เช่น การสร้างเมืองอัจฉริยะที่ใช้ระบบพลังงานสะอาด การจัดการจราจรด้วย AI และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการปล่อยมลพิษในเขตเมือง ดังตัวอย่างของ โครงการ Smart City ของประเทศฟินแลนด์ ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนในการจ่ายไฟทั้งเมือง และใช้ระบบขนส่งมวลชนที่ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

    นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้น ด้วยพื้นที่ของเราจำกัดครับ

    ท่านผู้อ่านครับ...แม้เศรษฐกิจสีเขียวและเทคโนโลยีใหม่จะมีศักยภาพสูง และมีโอกาสมากมาย แต่เราก็ยังคงหนีไม่พ้นความสำคัญของนโยบายของรัฐครับ เพราะนโยบายของรัฐจะเปรียบเสมือนใบเบิกทางในภาคส่วนต่างๆเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว หากภาครัฐมีนโยบายในการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น การสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม ก็เชื่อได้ว่า เทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

    ดังนั้น วันนี้เราก็ต้องมองไปในอนาคตข้างหน้าครับว่า เศรษฐกิจสีเขียวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศ ทั้งในมิติของสิ่งแวดล้อม และการคว้าโอกาสใหม่ๆ แต่การดำเนินการนั้นต้องไปด้วยกันทั้งระบบ

    สำหรับประเทศไทยของเรา ก็หวังว่าทั้งระบบจะเดินไปข้างหน้าพร้อมๆกันในเร็ววันนี้ครับ

    “Green Economy is not just an option; it is a necessity for a sustainable future.”

    เอวัง

  3. อายุขัยกำหนดได้แม่นกว่าหมอดู

    เสรี พงศ์พิศ

    Fb Seri Phogphit

    “แก่ช้า อายุยืน” เป็นหนังสือของ ดร.เดวิด ซินแคลร์ อาจารย์ที่ฮาร์วาร์ด นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์และกระบวนการชราภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศึกษากลไกที่เกี่ยวข้องกับความชราภาพและการค้นหาวิธีการยืดอายุขัยและคุณภาพชีวิตในวัยสูงอายุ

    ในหนังสือเล่มนี้และในการให้สัมภาษณ์ต่าง ๆ เขาเสนอแนวคิดสำคัญหลายประการเกี่ยวกับความชราภาพว่า ความชราไม่ใช่กระบวนการธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้นเสมอไป แต่เป็น "โรค" หรือ "กระบวนการที่ผิดปกติ" ซึ่งสามารถป้องกันหรือชะลอได้ รักษาได้ ความคิดนี้เปลี่ยนมุมมองแบบดั้งเดิมเกี่ยวกับอายุขัย โดยเขาเสนอว่าความชรานำไปสู่โรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ และอัลไซเมอร์

    เขาบอกว่า ความชราเกิดจาก “ทฤษฎีข้อมูลเกี่ยวกับอายุ” (Information Theory of Aging) ที่บอกว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวข้องกับการสูญเสียข้อมูล (information) ทางพันธุกรรมที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ รหัสพันธุกรรม (DNA) ยังคงเหมือนเดิม แต่กลไกการอ่านและถอดรหัส (epigenetic information) ถูกลดทอนหรือทำให้เสียหาย  ซึ่งส่งผลให้เซลล์ทำงานผิดปกติ

    เขาเห็นว่า Sirtuins เป็นกลุ่มโปรตีนที่มีบทบาทในการควบคุมกระบวนการชราภาพและซ่อมแซม DNA  Sirtuins ทำงานได้ดีขึ้นเมื่อมี NAD+ ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ร่างกายผลิตขึ้น แต่ปริมาณจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

    การเพิ่ม NAD+ ในร่างกาย สามารถช่วยกระตุ้น Sirtuins และชะลอกระบวนการชราภาพ

    เขาเสริมว่า การกระตุ้นกลไกเซลล์ให้รับมือกับความเครียด ด้วยฮอร์เมซิส (Hormesis) กระบวนการที่เซลล์ตอบสนองต่อความเครียดในระดับที่ปลอดภัย เช่น การจำกัดแคลอรี หรือการออกกำลังกาย ความเครียดเหล่านี้กระตุ้นกลไกป้องกันเซลล์และช่วยชะลอความชรา

    ซินแคลร์ชี้ให้เห็นว่าความชราเป็น "ต้นเหตุ" หลักของโรคเรื้อรังและร้ายแรงอย่าง มะเร็ง โรคหัวใจ และอัลไซเมอร์ ถ้าสามารถจัดการความชราได้ เราก็อาจลดความเสี่ยงหรือชะลอการเกิดโรคเหล่านี้ได้

    เขาแนะนำและทำเป็นตัวอย่าง (พร้อมกับคุณพ่อของเขา) วิธีการดำเนินชีวิตเพื่อยืดอายุขัย เช่น การทำ IF การลดรับประทานเนื้อแดง อาหารแปรรูป การเสริม NMN หรือ Resveratrol (ซึ่งมีการผลิตเป็นยา)

    ซินแคลร์ไม่ได้ต้องการให้คนมีอายุยืนเท่านั้น แต่ต้องการให้มีสุขภาพดีในวัยชรา มีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพปราศจากโรคภัย

    เขาเน้นบทบาทสำคัญของไมโทคอนเดรีย และกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเซลล์ให้กลับมาทำงานเหมือนในช่วงวัยหนุ่มสาว เพราะไมโทคอนเดรีย คือโรงงานพลังงานและศูนย์กลางสุขภาพเซลล์ เมื่อเราอายุมากขึ้น ไมโทคอนเดรียเริ่มเสื่อมสภาพและทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เกิดการสร้างอนุมูลอิสระมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของเซลล์

    การลดลงของพลังงานจากไมโทคอนเดรียส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ และเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความชรา เขาเสนอว่า การฟื้นฟูการทำงานของไมโทคอนเดรียเป็นกุญแจสำคัญในการชะลอความชราและโรคที่เกี่ยวข้องกับอายุ เช่น มะเร็ง อัลไซเมอร์ และโรคหัวใจ

    เขาเสนอว่า "ข้อมูลเชิงพันธุกรรม" (Epigenetic Information) มีความสำคัญต่อการรักษาเซลล์ให้อยู่ในสถานะที่ดี เขาเปรียบเทียบ DNA ว่าเป็นข้อมูลดิบของเซลล์ ในขณะที่ Epigenetics คือ "ซอฟต์แวร์" ที่ควบคุมการแสดงออกของยีน (gene expression) แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้น Epigenetic "software" เกิดความเสียหาย เช่น การสะสมโปรตีนที่ไม่พึงประสงค์และการเสียสัญญาณทางพันธุกรรม  เซลล์จึงสูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่เหมือนในวัยหนุ่มสาว

    ซินแคลร์ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Yamanaka Factors (กลุ่มยีนที่สามารถรีเซตเซลล์ให้กลับไปสู่สถานะต้นกำเนิด) ในการทดลอง โดยการกระตุ้นปัจจัยเหล่านี้ในระดับที่ควบคุมได้ เซลล์ที่เสื่อมสภาพสามารถกลับไปทำงานเหมือนเซลล์ในวัยหนุ่มสาว กระบวนการนี้ยังช่วยฟื้นฟูการทำงานของไมโทคอนเดรีย และปรับปรุงความสามารถในการซ่อมแซม DNA

    ในการทดลองกับหนู การเพิ่มระดับ NAD+ และการกระตุ้น Sirtuins ไม่เพียงช่วยฟื้นฟูไมโทคอนเดรีย แต่ยังปรับปรุงการทำงานของระบบประสาท หนูที่ได้รับการฟื้นฟูระดับ NAD+ แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงในความจำและความสามารถในการเรียนรู้ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการฟื้นความจำในมนุษย์

    ซินแคลร์เห็นว่าในอนาคต มนุษย์จะสามารถควบคุมกระบวนการชราได้ และอาจ "ย้อนเวลา" ให้เซลล์กลับมาอยู่ในสภาพที่แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาว ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตมีอายุยืนและมีคุณภาพมากขึ้น

    ซินแคลร์ใช้การตรวจเลือดที่ล้ำสมัยเพื่อประเมินอายุทางชีวภาพและตัวชี้วัดสุขภาพต่าง ๆ ซึ่งวิธีการนี้ไม่ได้ดูแค่อายุจริง (Chronological Age) แต่ประเมินว่า ร่างกายของคุณกำลังแก่ตัวไปอย่างไรในเชิงชีวภาพ นี่คือคำอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการและความเป็นไปได้ในการทำในห้องปฏิบัติการอื่น ๆ

    เขารวบรวมข้อมูลเหล่านี้เพื่อติดตามสุขภาพโดยรวมและกระบวนการชะลอวัย โดยใช้ AI และ Machine Learning เพื่อรวมข้อมูลจากตัวชี้วัดทางชีวภาพและการทดสอบอีพิเจเนติกส์เพื่อสร้างข้อมูลเชิงลึกส่วนบุคคลเกี่ยวกับการแก่ตัวและความยืนยาว เขาทดลองกับตัวเอง พบว่าหลังจากดูแลสุขภาพดี อายุขัยของเขาเพิ่มขึ้นมาก

     ห้องปฏิบัติการที่ให้บริการ Epigenetic Testing มีหลายบริษัท ให้บริการทดสอบอายุทางชีวภาพผ่านการวิเคราะห์ DNA โดยส่งตัวอย่างเลือดหรือน้ำลายไปยังห้องปฏิบัติการเหล่านี้เพื่อรับรายงานโดยละเอียด

    วิทยาศาสตร์วันนี้ก้าวหน้าจนสามารถบอกอายุขัยของคนเราได้แม่นกว่าหมอดู อยากรู้ว่าเมืองไทยมีบริการ “ดูอายุขัย” ในห้องแล็บได้หรือไม่ ที่ไหน คงต้องสอบถามเอง

    คนอาจจะไม่เป็นอมตะ แต่อายุยืนยาวถึง 120 ปี อาจเป็นเรื่อง “ปกติ” ในอีกไม่นาน

  4. บารอน (4/12/67)

    หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ขายข่าวขายความจริงให้ประชาชนคนไทยได้อ่านมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประเทศไทยฉบับนี้ ประจำวันพุธที่  4 ธ.ค.2567 นิติรัฐเข้มแข็ง ประเทศชาติเข้มแข็ง ...*...

     เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี ยังคงมี “มาดามอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ในวัย 38 ปี ยังคงสุขสบายดี บนเก้าอี้ นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย ท่ามกลางคลื่นลมการเมือง ที่ ถาโถมเข้าใส่อย่างรุนแรง ล่าสุด โลกโซเชียลรุมถล่ม สร้างกระแสดราม่า เกิดมหาวิกฤติน้ำท่วมภาคใต้ แต่ ไร้เงานายกฯหญิง ที่ พาครอบครัวแอ่วเหนือ ...*...

    “บารอน” ก็คนรุ่นเก่า มีความเข้าใจการเมืองแบบเก่าๆ เป็นนักการเมือง ต้องเข้าถึงประชาชนทันที ยามที่ ประชาชนประสบความทุกข์ยาก จากเภทภัยทุกชนิด จนเป็นภาพติดตาค้างอยู่ในใจลึกๆ เกิดความรู้สึก เป็นความผิดของนักการเมือง ที่ ไม่ลงพื้นที่ประสบภัย ...*...

    บรรทัดนี้ บารอน เปิดใจกว้างมอง แพทองธาร ชินวัตร เป็นคนเจนวาย นายกฯวัยใส ของ โลกยุคดิจิทัล ตั้งแต่ เกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ดินโคลนถล่มภาคเหนือ เชียงใหม่ เชียงราย เธอก็ ไม่ได้ขึ้นไปทันที ด้วยเหตุที่ว่า ไม่อยากเป็นภาระในช่วงน้ำท่วม อีกทั้ง สั่งการให้รัฐมนตรีไปลงพื้นที่ พร้อมทั้ง ให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ จะท่วมเหนือท่วมใต้ ก็ไม่ได้ลงไปทันทีเช่นกัน เป็นสไตล์การทำงาน ใครชอบ มีเลือกตั้งเมื่อไหร่ ก็เลือกพรรคเพื่อไทย และ ใครไม่ชอบ ก็ไม่ต้องเลือกพรรคเพื่อไทย ไม่ใช่มาโจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคาย ...*...

    อา นิติรัฐเริ่มทำงาน เมื่อ คณะกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ที่มี นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานไต่สวน ในกรณี ป่วยทิพย์ ชั้น 14 ที่ กล่าวหาข้าราชการกรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ รวมไปถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรียุติธรรม กระทำความผิด ตามมาตรา 157 และ นายทักษิณ ชินวัตร ในข้อหา ผู้ให้การสนับสนุน ได้สรุปสำนวนไต่สวนเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะส่งไปให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ในวันนี้ มาลุ้นกันทีว่า ป.ป.ช.ชุดใหญ่จะลงมติกันอย่างไร มีมูล หรือ ไม่มีมูล ...*...

    ใครแหลมคมกว่าใคร ระหว่าง สองนักกฎหมายใหญ่พรรคเพื่อไทย ฝ่ายหนึ่ง ดร.นพดล ปัทมะ เสนอให้ เปิดอภิปรายทั่วไป ตามมาตรา 152 ไม่มีการลงมติ เพื่อ ให้รัฐบาลชี้แจงเรื่อง เอ็มโอยู 44 ไทย – กัมพูชา ใช้เวทีสภาฯชี้แจง ทำความเข้าใจกับประชาชน และ เป็นทางลง ของ รัฐบาล ในขณะที่ ดร.ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่เห็นด้วย ไม่เป็นการช่วยอะไร ...*...

    ประสา บารอน หาข่าว การเอา เอ็มโอยู 44 เข้าสภาฯ ข้อดี เป็นการฟอกขาวให้รัฐบาล แต่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีกลาโหม มีข้อกังวล ว่า สองพรรคร่วมใหญ่ คือ พรรคภูมิใจไทย และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้มีการหาเสียง ไม่เห็นด้วยกับ เอ็มโอยู 44 ฉบับนี้ ก่อนหน้านี้แล้ว จะทำให้เกิดภาพความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล หาก มีการยกมือสวนพรรคเพื่อไทย จะเป็นเหตุให้ ต้องยุบสภาฯ ในขณะที่ พรรคเพื่อไทยยังไม่พร้อม ที่นี่ บารอน ยอมหน้าแตกฟันธง คงไม่มีการอภิปราย ตาม ม.152 แน่นอน ...*...

    ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.กำแพงเพชร เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายสุนทร รัตนากร พี่ชาย นายวราเทพ รัตนากร ป้องกันแชมป์ รักษาเก้าอี้นายก อบจ.กำแพงเพชร ไว้ได้  ด้วยคะแนน 167,255 คะแนน ทำให้ชนะผู้ท้าชิง นายธานันท์ หล่าวเจริญ คู่แข่งในนาม พรรคประชาชน ที่ได้เพียง 52,365 คะแนน  เพราะ สื่อกระแสหลัก ทีวี ไม่มีการเสนอข่าว ทำให้ ไม่มีกระแส เลยทำให้ แพ้เยอะ ต่างกับ การเลือกตั้ง นายก อบจ.อุดรธานี ที่ นายทักษิณ ชินวัตร ลงสนามการเมือง ไปช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย ทำให้ สื่อกระแสหลักโหมประโคมข่าว แม้ พรรคเพื่อไทยชนะก็จริง แต่ ก็สร้างกระแส ทำให้ พรรคประชาชน ถึงจะแพ้ แต่ก็มีคะแนนเป็นหลักแสน ...*...

    มีความคืบหน้า ใบสั่งฆ่าประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ อย่างเปิดเผยของ นางซารา ดูเตร์เต รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เรื่องเข้าสู่รัฐสภา ถกกันถึงขั้นว่า เป็นการข่มขู่ประธานาธิบดี และ จะต้องมีการอภิปรายถอดถอนรองประธานาธิบดี แต่ นายเฟอร์นานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดี ใจไม่ถึง ออกมาประนีประนอม ไม่ยอมให้มีการอภิปรายเกิดขึ้น ยอมอยู่อย่างหวาดระแวง จนกว่าจะมีคนกลางมาเจรจาสงบศึก ...*...

    เมื่อลมหนาวโชยมาก็ถึงเวลาที่ทุ่งดอกคอสมอสหลากสีสันที่ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม จะบานสะพรั่ง ต้อนรับการมาเยือนของเพื่อนพ้องน้องพี่อีกครั้ง! ปีนี้ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม 2567 กลับมาเปิดฟาร์มแสนอบอุ่น ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 67 – 1 ม.ค. 68 ภายใต้คอนเซปต์ “อีสานเอิ้นหา (Isan Calling)” ครั้งนี้เนรมิตบ้านเป็น Isan Culture Oasis ดินแดนแห่งความอิ่มอกอิ่มใจ พร้อมจัดเต็มนิทรรศการสุดสร้างสรรค์ ตลอดจนกิจกรรมม่วนซื่นมากมายให้ทุกครอบครัวมาเอ็นจอยกันได้ตลอดทั้งวัน บนพื้นที่กว่า 600 ไร่ ที่สะท้อนตัวตนและเสน่ห์ความเป็นอีสานเเท้ ๆ ท่ามกลางทุ่งดอกไม้หลากสีที่บานสะพรั่งรับลมหนาว ทั้งทุ่งคอสมอสและดอกไม้พื้นถิ่นแดนอีสาน ให้ได้เก็บภาพสวย ๆ ในทุกมุมมอง ...*...

     พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมความงดงามของศิลปะดั้งเดิมของไทยหลากหลายแขนง ในการแสดงโขนนาฏยศาสตร์แห่งแผ่นดิน PARADISE PARK KHON THE THEATER โดยในเดือนธันวาคมนี้เป็น ตอน "หนุมานชูกล่องดวงใจ"  พุธที่ 4 ธ.ค.67 ที่ชั้น 1 ลานรอยัลพาร์ค พลาซ่า ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค โดยการแสดงออกเป็น 2 รอบ เวลา 14.00 น. และ 17.30 น. (รอบละ 60 นาที) ชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

     

    สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งคนพิการชิงแชมป์โลก รายการ2024 แบงค็อก เวิลด์ พารา ไอซ์ ฮอกกี้ แชมเปียนชิพส์ ซี-พูล และพระราชทานถ้วยรางวัลการแข่งขันฯ แก่ทีมที่ชนะเลิศ ณ สนามฮอกกี้น้ำแข็งไทยแลนด์ อินเตอร์เนชันแนล ไอซ์ ฮอกกี้ อารีนา

    สมเด็จพรนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงร่วมกิจกรรมวิ่ง "อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบงค็อก 2024" (AMAZING THAILAND MARATHON BANGKOK 2024 : ATMBKK 2024) ณ ท้องสนามหลวง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    เยี่ยมชม...ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) นำโดย เจ กิว จอง และ วัลลภ เฉลิมวงศาเวช ยกขบวนทัพยานยนต์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ระดับพรีเมียมเต็มรูปแบบ พร้อมโปรโมชันและข้อเสนอที่สุดแห่งปีในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 ประจำปี 67 โดยมี เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ดร.ณัฐพล รังสิตพล ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา  จรวย ขันมณี  พัฒนเดช อาสาสรรพ จาตุรนต์ โกมลมิศร์ ชไมพร ปภัสร์พงษ์ ชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ และ ขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ เยี่ยมชม ที่บูธฮุนได ชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

    เตรียมงาน...เตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานกาชาดประจำปี 2567  ขรรค์ ประจวบเหมาะ ผอ.สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย และ จันทร์ประภา วิชิตชลชัย รอง ผอ.สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย จัดงานแถลงข่าวงานกาชาดประจำปี 2567 “ทศมราชา 72 พรรษา ถวายพระพร” โดยมี ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ราเชนทร์  อันเวช  พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์  ถนิมรัตน์ แกล้วทนงค์ มัชฌิมา รัตนศรีมหาโพธิ์ ศรัญญา มะหาวงค์ และ ศุภชัย ช่วยสุข ศิลปินจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ร่วมงาน ที่ศูนย์นันทนาการลุมพินี สวนลุมพินี  เมื่อวันก่อน

    มอบรางวัล...โรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตประจำสถานทูตอเมริกาในประเทศไทย และ ไซมอน เดนนี่ AMCHAM Board Governor เป็นประธานมอบรางวัล “AMCHAM Corporate Social Impact Recognition Awards 2024” ในระดับแพลทินัม แก่ Baxter Kidney Care (Vantive) โดยรางวัลนี้ได้รับการยกย่องจากโครงการ Green Nephrology ด้วยความมุ่งมั่นตลอด 12 ปีในประเทศไทย เพื่อลดขยะจากถุงน้ำยาล้างไตทางหน้าท้องที่ใช้แล้ว พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้สามารถนำถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วกลับมาทำให้เกิดประโยชน์ได้อีกครั้ง ที่โรงแรม อวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ

    ประชุมวิชการ...น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติทางสัตวแพทย์และการเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 46 ประจำปี 2567 ชูการรวมศาสตร์ 2 วิชาชีพ มุ่งพัฒนาภาคปศุสัตว์ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกอย่างยั่งยืน พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "Next Step of Livestock Thailand" จัดโดย น.สพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และ สุเทพ วงศ์รื่น นายกสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทยฯ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

    มิชลินไกด์...มานูเอล ฟาเฟียง ประธานกลุ่มมิชลินประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าฯททท. จัดงานเปิดตัวคู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับประเทศไทย ประจำปี 2568 เป็นคู่มือแนะนำร้านอาหารและที่พัก ‘มิชลิน ไกด์’ ฉบับที่ 8 ของประเทศไทย มิชลินได้ประกาศรายชื่อร้านอาหารที่คว้ารางวัล ‘ดาวมิชลิน’ และรางวัลพิเศษอื่นๆ พร้อมทั้งฉลองความสำเร็จให้แก่บุคลากรมืออาชีพในแวดวงร้านอาหารของประเทศไทยที่ได้รับรางวัล ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้

    สาขาแรก...ดร.อุษณีย์ มหากิจศิริ ลีโอณีโอ ประธาน เคเอฟยู จัดงานเปิดร้าน ซีส์ แคนดีส์ (See’s Candies) ร้านช็อกโกแลตชื่อดังที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี จากสหรัฐอเมริกา สาขาแรกในศไทย โดยมี สุวิมล มหากิจศิริ เกว็นดลิน เจ. คาร์ด เซอร์จิโอ กูซมัน อรธิรา ภาคสุวรรณ์ สงกรานต์ เตชะณรงค์ จินเจษฎ์ วรรธนะสิน รวมทั้งเหล่าแฟนพันธุ์แท้ ซีส์ แคนดีส์ ร่วมงาน ที่ชั้น G บริเวณหน้า กูร์เมต์ มาร์เก็ต ศูนย์การค้า ดิ เอ็มสเฟียร์ เมื่อวันก่อน

  5. วันสิ่งแวดล้อมไทย

    ปี 2567 ประเทศไทยประสบกับปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น  ทั้งน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ในหลายพื้นที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สิน พื้นที่การเกษตร ที่อยู่อาศัย ที่สำคัญคือน้ำท่วมเกิดถี่ขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อม        

    พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดํารัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย พระตําหนักจิตรลดารโหฐาน โดยมีใจความเกี่ยวกับ

    “สถานการณ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และของโลกที่มีความรุนแรงขึ้น และทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประชาชนชาวไทยกําลังประสบอยู่ พร้อมทั้งตรัสเตือนพสกนิกรให้ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยความสุขุมรอบคอบ โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องปฏิบัติ มิใช้เพียงเพื่อประเทศไทย เท่านั้น หากเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของโลกด้วย”

    จากพระราชดำรัสข้างต้น สะท้อนสายพระเนตรยาวไกลและพระวิสัยทัศน์

    คณะรัฐมนตรี  ในปี พ.ศ. 2534 จึงกำหนดให้วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อช่วยกระตุ้นให้ประชาชนทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และเป็นวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ หรือ วัน ทสม. แห่งชาติ อีกด้วย

    ทั้งนี้ วันที่ 4 ธันวาคม ยังตรงกับ “วันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ” หรือวัน ทสม. แห่งชาติ โดยเกิดจาดแนวคิดการรวมกลุ่มพลังทางสังคมที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบ “เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งต่อมาได้ปรับเปลี่ยนบทบาทและชื่อเป็น “เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ” หรือ “เครือข่าย ทสม.” และในปี พ.ศ. 2550 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ขยายเครือข่ายให้ ทสม. ครอบคลุมทั่วทั้ง 76 จังหวัด ครม. จึงได้มีมติให้ทุกวันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ

    ถึงเวลาที่พวกเราทุกคนต้องตระหนักและร่วมมือกันในการสร้างภูมิคุ้มกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแต่ต้องร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ทิศทางนโยบายของรัฐบาลต้องต่อเนื่องเพื่อความยุ่งยืน